ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงเส้นทางการผลิตอาหารให้ดีกว่าเดิมแล้ว!
ทุกวันนี้ ซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เป็นสถานที่วางจำหน่ายอาหารเพื่อความสะดวกสบายของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังถือว่าเป็นคนกลางที่มีบทบาทเป็นอย่างมากในการเชื่อมผู้ผลิตและผู้บริโภคนับล้านเข้าด้วยกัน ดังนั้นวิธีที่ซูเปอร์มาเก็ต ‘เลือก’ อาหารเพื่อนำเข้ามาวางจำหน่าย จึงส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเกษตรกรรายย่อย แรงงานหญิงและชาย ตลอดถึงทุกชีวิตในห่วงโซ่อุปทานอาหารแห่งนี้ เพื่อส่งตรงวัตถุดิบให้เราเลือกสรร และประกอบเป็นมื้ออาหารให้ถึงจานของคุณ
เราจึงอยากชวนคุณและซูเปอร์มาร์เก็ตมาร่วมให้ความสำคัญกับ ‘คนต้นทาง’ และการผลิตอาหารที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น เพราะเราเชื่อว่าอาหารที่ดีต้องเป็นธรรมกับเกษตรกรและแรงงาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ผู้บริโภคที่รัก เกิดจากการรวมตัวกันของภาคประชาสังคม ได้แก่ กินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค องค์การอ็อกแฟม ในประเทศไทย ซึ่งมุ่งส่งเสริมให้ระบบอาหารของไทยเป็นธรรม และยั่งยืนยิ่งขึ้น โครงการนี้ได้รับความสนับสนุนจากโครงการ SWITCH-Asia โดยสหภาพยุโรป และ องค์การเพื่อการพัฒนานานาชาติแห่งประเทศสวีเดน (SIDA)
เนื่องจากบริษัทค้าปลีกชั้นนำมีสัดส่วนตลาดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และมีกำลังการผลิตสูงมีฐานลูกค้าจำนวน มากทั้งยังมีความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านสาขา ในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ จึงควรรณรงค์ให้ซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้หันมารับผิดชอบต่อสังคมให้มากยิ่งขึ้น
เพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ตควรส่งเสริมอาหารที่ ดีตั้งแต่ต้นทาง คือไม่เอาเปรียบเกษตรกรและแรงงาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยในแต่ละด้านมีรายละเอียดและเงื่อนไขเป็นไปตามมาตรฐานสากล สามารถวัดผลและตรวจสอบได้
เราเชื่อว่าซูเปอร์มาร์เก็ตเปลี่ยนได้ หากผู้บริโภคช่วยกันส่งเสียง
ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพที่จะเป็นเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงให้การผลิตและจำหน่ายอาหารมีความยั่งยืนขึ้นได้ ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิต คนต้นทาง ทั้งเกษตรกรรายย่อยและแรงงาน รวมทั้งช่วยให้ลูกค้าอย่างเราซื้ออาหารได้อย่างสบายใจ ปลอดภัย อิ่มอร่อยแบบไม่ได้ทำร้ายใคร และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
.